InnovestX Macro Making Sense สรุปประเด็นการประชุม กนง. การปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของ Moody’s เศรษฐกิจไทยเดือน มี.ค. และประเด็นสำคัญจากการสัมมนาเศรษฐกิจ

 

สรุปประเด็นการประชุม กนง. การปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของ Moody’s เศรษฐกิจไทยเดือน มี.ค. และประเด็นสำคัญจากการสัมมนาเศรษฐกิจ

  • การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งที่ 2/2568 เรามองว่า การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่ระดับ 1.75% ด้วยมติ 5 ต่อ 2 เสียง สะท้อนถึงความกังวลอย่างมากของ กนง. ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่อาจได้รับผลกระทบรุนแรงจากนโยบายการค้าโลก อย่างไรก็ตาม การลดดอกเบี้ยในครั้งนี้อาจไม่เพียงพอหากสถานการณ์ทางการค้าทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งนี้ ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญและเงินเฟ้อที่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย เราประเมินว่า กนง. จะมีการลดดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 2 ครั้งในปีนี้ โดยเฉพาะหากข้อมูลเศรษฐกิจที่ทยอยออกมาในช่วงครึ่งปีหลังยืนยันแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจ หรือหากสงครามการค้าทวีความรุนแรงและเข้าใกล้ฉากทัศน์ทางเลือก (Alternative Scenario)

  • การปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยจาก "Stable“ เป็น "Negative“ โดย Moody’s มีสาเหตุหลักจากความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยท่ามกลางความไม่แน่นอนของสงครามการค้าโลก ซึ่งส่งผลให้มีการปรับลดคาดการณ์การเติบโตของ GDP เหลือเพียง 2% จากเดิม 2.9% สำหรับปี 2025 (ขณะที่ IMF คาดการณ์ไว้ต่ำกว่าที่ 1.8% และเราคาดที่ 1.4%)   ทั้งนี้ เรามองว่า หนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นเป็น 64.21% ของ GDP ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจนำไปสู่การปรับลดอันดับเครดิตในอนาคต อย่างไรก็ตาม ทั้งๆ ที่มุมมองเครดิตถูกปรับลด แต่พบว่ามีเงินทุนไหลเข้าตลาดพันธบัตรไทยกว่า 6.4 หมื่นล้านบาทในเดือนเมษายน 2025 และค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นกว่า 2% นับตั้งแต่มีการประกาศมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ปรากฏการณ์นี้สะท้อนถึงการที่นักลงทุนเริ่มมองไทยเป็น "Safe Haven" แห่งใหม่ท่ามกลางกระแส "Sell America" จากความไม่แน่นอนของนโยบายสหรัฐฯ

  • เศรษฐกิจไทยในเดือนมีนาคม 2568 ชะลอตัวลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะในภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงเหลือ 2.72 ล้านคน จาก 3.12 ล้านคนในเดือนกุมภาพันธ์ การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวในหมวดบริการและสินค้าไม่คงทน สอดคล้องกับดัชนี PCI ที่หดตัว -0.5% (MoM) จากเดิมที่ขยายตัว 0.9% ในเดือนก่อน ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังอ่อนแอต่อเนื่อง โดยดัชนี PII หดตัว -1.0% (MoM) อย่างไรก็ตาม การส่งออกยังขยายตัวสูงถึง 17.7% (YoY) จากการเร่งส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ก่อนการบังคับใช้มาตรการภาษี โดยเฉพาะในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์

  • ประเด็นสำคัญจากการสัมมนาเรื่อง "ทิศทางและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในกระแสการเปลี่ยนขั้วอำนาจโลก" วันที่ 30 เมษายน 2025 โดย ดร. พงศ์นคร โภชากรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง เรามองว่า ภาพรวมของภาครัฐสะท้อนมุมมองที่อาจประเมินความเสี่ยงต่ำเกินไป และมีแนวทางการรับมือที่ค่อยเป็นค่อยไป ในสถานการณ์ที่ความเสี่ยงทวีความรุนแรงอย่างรวดเร็ว การประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่รุนแรงน้อย อาจนำไปสู่การขาดมาตรการเร่งด่วนที่เพียงพอ อาจนำไปสู่ความล่าช้าในการตอบสนองและเพิ่มความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปอย่างมีนัยสำคัญ

 

การประชุม กนง. ครั้งที่ 2/2568: ลดดอกเบี้ยรับมือสงครามการค้าโลก

  • คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 2.00 เป็นร้อยละ 1.75 ต่อปี โดยให้มีผลทันที ขณะที่ 2 เสียงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

  • เหตุผลของการลดดอกเบี้ย: (1) ให้สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ปรับลดลง (2) รองรับความเสี่ยงด้านต่ำที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะจากนโยบายการค้าโลก และ (3) ดูแลภาวะการเงินให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่เปลี่ยนไป ขณะที่กรรมการ 2 ท่านเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อใช้ในจังหวะที่เกิดประสิทธิผลสูงสุดภายใต้ขีดความสามารถของนโยบายการเงิน (policy space) ที่มีจำกัด

  • กนง. มองว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวลดลงและมีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นจาก (1) นโยบายการค้าของสหรัฐฯ และการตอบโต้ของประเทศเศรษฐกิจหลักที่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ การเงิน และการค้าโลกอย่างมีนัย (2) ความไม่แน่นอนสูงเกี่ยวกับนโยบายการค้าโลกในอนาคต และ (3) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง

อ่านเพิ่มเติม<คลิกที่นี่>

02 พฤษภาคม 2568

ผู้ชม 10 ครั้ง

Engine by shopup.com