IRPC ตั้ง “Crisis War Room” พร้อมรับมือเศรษฐกิจโลก เดินหน้ากลยุทธ์เสริมแกร่งธุรกิจหลัก ต่อยอดลงทุนเมกะเทรนด์ หนุนผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษบุกตลาดอาเซียน

 

9 พฤษภาคม 2568 – นายเทอดเกียรติ พร้อมมูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เปิดเผยว่า ท่ามกลางสถานการณ์การค้าโลกที่ยังมีความไม่แน่นอน บริษัทฯ ได้จัดตั้ง “Crisis War Room” เพื่อติดตามสถานการณ์ เศรษฐกิจและตลาดอย่างใกล้ชิด ช่วงเศรษฐกิจมีความผันผวนสูง สามารถตอบสนองการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว IRPC ได้วางแนวทางเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ โดยเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีระบบ พร้อมบริหารความเสี่ยงทางการเงินอย่างรอบด้าน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการลงทุนในอนาคต ผ่าน 2 กลยุทธ์หลัก คือ 1. Core Up Lift และ 2. Step Up & Beyond

     1. กลยุทธ์ที่ Core Up Lift การยกระดับประสิทธิภาพการผลิต เสริมความแข็งแกร่งธุรกิจหลักด้านปิโตรเลียมและปิโตรเคมี โดยมีแนวทางดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่
          - ความเป็นเลิศทางการค้า (Commercial Excellence) ธุรกิจปิโตรเลียม เพิ่มสัดส่วนการจำหน่ายน้ำมันดีเซลในประเทศ รวมถึงขยายตลาดผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง เช่น น้ำมันดีเซลกำมะถันต่ำ (Low Sulfur Diesel) และ Jet A-1 เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น
          - มุ่งขยายการผลิตกลุ่มผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ (Specialty Portfolio) ธุรกิจปิโตรเคมี ให้ความสำคัญกับการขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ (Specialty Products) เช่น PP Phthalate free สำหรับผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และบรรจุภัณฑ์อาหาร เพื่อตอบโจทย์ของผู้ผลิตและผู้บริโภคที่ต้องการความปลอดภัย รวมทั้ง UHMWPE พลาสติกวิศวกรรม ที่มีความทนทานต่อการสึกหรอ ทนแรงกระแทกและเสียดสีสูง นำไปผลิตเป็น Battery Separator สายพานลำเลียง เฟือง อะไหล่และชิ้นส่วนของลิฟท์ เป็นต้น พร้อมเดินหน้าขยายตลาดสู่ประเทศที่มีศักยภาพในอาเซียน เช่น เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
           - เพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขัน (Optimization & Competitiveness) ด้วยการบริหารต้นทุนในกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีทั้งในด้านราคาและความต้องการของตลาด มองหาโอกาสใหม่ โดยร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจคิดค้นพัฒนาเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษและผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค
          - บริหารจัดการสินทรัพย์ (Asset Management) บริหารจัดการที่ดิน รวมถึงแผนพัฒนาพื้นที่ในเขตประกอบการอุตสาหกรรมและท่าเรือไออาร์พีซี จ.ระยอง เพื่อรองรับการลงทุนและเสริมศักยภาพโลจิสติกส์ในอนาคต
          - การบริหารจัดการบริษัทในเครือ (Subsidiaries Management) ยกระดับการบริหารจัดการบริษัทในเครือ พร้อมมองหาโอกาสร่วมทุนกับพันธมิตร เพื่อเพิ่มมูลค่าหรือสร้างรายได้เพิ่ม

     2. กลยุทธ์ Step Up & Beyond การขยายธุรกิจใหม่ ด้วยการต่อยอดความเชี่ยวชาญจากห่วงโซ่อุตสาหกรรมเดิม ร่วมลงทุนกับพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเน้นใน 5 กลุ่มธุรกิจเมกะเทรนด์ระดับโลก อาทิ ธุรกิจสีและสารเคลือบ ธุรกิจโรงพยาบาล และธุรกิจรีไซเคิล เป็นต้น

จากสถานการณ์ความผันผวนของราคาพลังงาน มาตรการทางภาษีของประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงอุปทานที่ลดลง ตามภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงาน ในไตรมาส 1/2568 เปรียบเทียบกับไตรมาส 4/2567 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายสุทธิ 62,224 ล้านบาท ลดลง 813 ล้านบาท หรือร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยมีสาเหตุหลักจากปริมาณขายลดลงร้อยละ 4 ขณะที่ราคาขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น สำหรับธุรกิจปิโตรเลียมมีกำไรขั้นต้นจากการกลั่นตามราคาตลาด (Market Gross Refining Margin: Market GRM) ที่ลดลงจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมเทียบกับราคาน้ำมันดิบดูไบ ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงจากความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลงตามสภาวะเศรษฐกิจ และผลกระทบจากนโยบายทางการค้าของประเทศสหรัฐอเมริกาต่อประเทศคู่ค้า
นอกจากนี้ ธุรกิจปิโตรเคมี มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาดของกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมี (Market Product to Feed: Market PTF) ที่ลดลง โดยหลักจากปริมาณการขายในกลุ่มโอเลฟินส์ที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากความต้องการซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวในขณะที่ กลุ่มธุรกิจสาธารณูปโภค มีกำไรขั้นต้นค่อนข้างคงที่จากการขายไฟฟ้าและไอน้ำ ส่งผลให้บริษัทฯ มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาด (Market GIM) อยู่ที่ 3,886 ล้านบาท หรือ 6.34 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลงร้อยละ 31 จากไตรมาส 4/2567

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น้ำมันดิบในไตรมาส 1/2568 มีความผันผวนจากความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศแถบตะวันออกกลาง และจากสภาวะเศรษฐกิจจีนที่ยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร ประกอบกับการยกเลิกการลดปริมาณการผลิตโดยสมัครใจของโอเปกและพันธมิตร รวมถึงมาตรการทางภาษีของประเทศสหรัฐฯ ต่อประเทศคู่ค้า ซึ่งส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบดูไบปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ทำให้บริษัทฯ มี Net Inventory Gain รวม 632 ล้านบาท หรือ 1.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตทางบัญชี (Accounting GIM) จำนวน 4,518 ล้านบาท หรือ 7.37 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ลดลงร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2567 ส่งผลให้บริษัทฯ มีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จำนวน 1,596 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2567

นอกจากนี้ บริษัทฯ บันทึกค่าเสื่อมราคา 2,328 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มีต้นทุนทางการเงินสุทธิจำนวน 591 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากมีการชำระคืนเงินกู้ยืมระยะสั้น และเงินกู้ยืมระยะยาวในช่วงไตรมาส 1/2568 ขณะที่ บริษัทฯ บันทึกขาดทุนจากการลงทุน 657 ล้านบาท เทียบกับไตรมาส 4/2567 ที่มีผลกำไรจาก การลงทุน 223 ล้านบาท จากปัจจัยที่กล่าวข้างต้น ส่งผลให้ในไตรมาส 1/2568 บริษัทฯ บันทึกผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิ 1,206 ล้านบาท มากกว่าไตรมาส 4/2567 ที่ร้อยละ 7

สำหรับแนวโน้มสถานการณ์ตลาดน้ำมันดิบและตลาดปิโตรเคมี ปี 2568 ยังคงเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ต่อประเทศคู่ค้า ซึ่งอาจจำกัดความต้องการใช้น้ำมัน ประกอบกับช่วงไตรมาส 2 ของปี ซึ่งเป็นฤดูกาลซ่อมบำรุงโรงกลั่น ส่งผลให้ความต้องการน้ำมันดิบชะลอตัวชั่วคราว ด้านอุปทานการปรับเพิ่ม การผลิตของกลุ่มโอเปกพลัสจากส่วน Voluntary Cut ถือเป็นความท้าทายสำคัญ แม้ว่าสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางจะช่วยจำกัดอุปทานส่วนเกินได้บ้าง

ส่วนต่างราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวดีขี้น จากอุปทานที่ลดลง ความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี แนวโน้มยังทรงตัวถึงอ่อนตัว จากความกังวลเศรษฐกิจโลกและมาตรการกีดกันทางการค้า อย่างไรก็ตาม ความต้องการท่อ HDPE คาดว่าจะฟื้นตัวในไตรมาส 2 ซึ่งเป็นฤดูการก่อสร้างในภูมิภาคเอเชีย โดยยังต้องติดตามความไม่แน่นอนจากตลาดอสังหาริมทรัพย์จีนและการเพิ่มกำลังผลิตในประเทศจีนอย่างใกล้ชิด

บริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจโดยตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม โดยให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ร่วมกับพันธมิตรธุรกิจ ได้แก่ บริษัท ลีลาโพลี จำกัด และ บริษัท สหจิตต์วัฒนา อุตสาหกรรมพลาสติก จำกัด ส่งมอบผ้าพลาสติกสานเคลือบสารกันน้ำ ผ่านกองทัพไทย และมอบถุงใส่ขยะติดเชื้อให้กรุงเทพมหานคร เพื่อใช้ในภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมทั้งได้นำ วิศวกรและช่างจิตอาสาไออาร์พีซี ร่วมกับกลุ่ม ปตท. และการรถไฟแห่งประเทศไทย ลงพื้นที่ประเมินความเสียหายเบื้องต้นของโครงสร้างอาคารภายนอกและระบบไฟฟ้า ภายในนิคมบ้านพักรถไฟ กม.11

09 พฤษภาคม 2568

ผู้ชม 5 ครั้ง

Engine by shopup.com